จะขายแฟรนไชส์ ต้องทำอะไรบ้าง ?

จะขายแฟรนไชส์ ต้องทำอะไรบ้าง ?

เมื่อร้านขายดี มีคนมาขอซื้อแฟรนไชส์ เจ้าของร้านมักตื่นเต้น อยากขายแฟรนไชส์ หรือ บางกิจการมีแผนขยายธุรกิจ มองว่าแฟรนไชส์ คือกลยุทธ์ที่ใช่ หรือ บางรายวางแผนการใหญ่ต้องการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ แต่ก็ไม่รู้ว่า จะเริ่มต้นยังไง และถ้าขายแฟรนไชส์ จะต้องทำอะไรบ้าง

 

1.หาความรู้อย่างรู้ลึก รู้จริง

แน่นอนว่า ถ้าคุณทำแฟรนไชส์โดยไม่มีความรู้จริง ก็ย่อมไม่สำเร็จ ดังนั้นหากคุณต้องขยายธุรกิจด้วยแฟรนไชส์ ขั้นตอนแรกต้องมีความรู้เรื่องระบบแฟรนไชส์เสียก่อน ซึ่งทาง Top Business มีบริการปรึกษาธุรกิจ เรื่องการสร้างระบบแฟรนไชส์ ให้คำแนะนำ คำปรึกษา จากอาจารย์หลากท่านผู้ชำนาญการในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ และธุรกิจหลากหลายด้าน

 

2.ประเมินความเป็นไปได้

ใช่ว่าทุกกิจการคิดจะขายแฟรนไชส์ก็ขายได้ทันที กิจการที่จะขายแฟรนไชส์ได้นั้น ต้องมีความพร้อมในระดับหนึ่ง คือต้องเป็นกิจการที่มีกำไรมาแล้ว มีร้านสาขาอยู่บ้าง และมีอายุธุรกิจนานพอที่จะเอาประสบการณ์มาถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้ ดังนั้น ก่อนที่กิจการใดก็ตามที่คิดจะขายแฟรนไชส์ต้องมีการวิเคราะห์ความเป็นไปในธุรกิจของตัวเองว่า พร้อมหรือยังและอยู่ในระดับใด ซึ่งการขายแฟรนไชส์โดยที่ยังไม่พร้อม จะไม่สำเร็จ และจะเกิดปัญหามากมายตามมา จนต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่ หรือเลิกไปเลย อย่างที่เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

 

3.จัดระเบียบธุรกิจใหม่ หรือ ทำร้านต้นแบบ

ทุกกิจการย่อมต้องพัฒนาตลอดเวลา ดังนั้นก่อนการขายแฟรนไชส์ จะต้องมีการจัดระเบียบการดำเนินงานร้านเสียก่อน ส่วนที่ดีอยู่แล้ว ก็กำหนดขึ้นเป็นมาตรฐานการทำงาน สิ่งที่ยังไม่ดีก็จัดระเบียบใหม่ เพื่อสร้างความเป็นมาตรฐาน เพื่อให้ร้านต่อไปได้ปฏิบัติตาม อย่างเป็นรูปแบบเดียวกัน เพื่อให้ได้คุณภาพสินค้า การบริการ และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้เหมือนกันทุกร้าน ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า ทำเป็นร้านต้นแบบ หรือสร้างเป็นร้านตัวอย่างในแบบที่ต้องการขายแฟรนไชส์ เพื่อศึกษารายละเอียดและผลตอบรับในทุกแง่มุม ถ้าจะให้ดีให้ร้านต้นแบบนั้นอาจบริหารจัดการโดยผู้อื่น ที่ไม่ใช่คุณเป็นเจ้าของร้าน เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าถ้ามีการขายแฟรนไชส์ไปแล้ว ผู้ซื้อจะสามารถดำเนินกิจการได้อย่างราบรื่น ตามรูปแบบที่วางไว้ จะมีโอกาสสร้างกำไรให้กับกิจการได้อย่างต่อเนื่อง

 

4.ประมาณการ โครงสร้างทางการเงิน

ที่สำคัญยิ่ง ร้านต้นแบบนี้ จะนำมาใช้วางโครงสร้างทางการเงิน เช่น ถ้าการเปิดแฟรนไชส์ 1 แห่ง จะมีรายละเอียดในการลงทุนอย่างไร มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง จุดคุ้มทุนจะอยู่ลูกค้ากี่คน ยอดขายที่จะคุ้มค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ตัวเลขประมาณเท่าไหร่ และเป้าหมายควรมีลูกค้าขั้นต่ำเท่าไหร่ โอกาสที่จะได้เงินลงทุนคืนประมาณกี่ปี และคุ้มไหม ที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะมาลงทุนทำธุรกิจนี้ ร้านต้นแบบจะทำให้ได้ภาพที่ชัดขึ้น และมีตัวเลขที่เข้าใกล้ความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งส่วนนี้ จะมีความสำคัญต่อการกำหนด การเก็บค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ (Franchise Fee) และ ค่าธรรมเนียมรายเดือน (Royalty Fee) ด้วย

 

5.การจัดทำคู่มือ การอบรม และระบบตรวจสอบ เพื่อสร้างมาตรฐานธุรกิจ

คู่มือการดำเนินธุรกิจ คือ หัวใจของแฟรนไชส์ และเป็นกระบวนการที่ต้องมี ในการทำระบบแฟรนไชส์ คุณจะถ่ายทอดประสบการณ์ทางธุรกิจที่มีมานานนับสิบปีให้แก่ผู้อื่นได้อย่างไร และจะควบคุมการทำงานให้ราบรื่น มีมาตรฐานเดียวกันทุกแห่งได้อย่างไร คุณต้องจัดทำคู่มือดำเนินงาน สร้างระบบการอบรม ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ ตามคู่มือที่กำหนดไว้ รวมไปถึงการสร้างระบบตรวจสอบ เพื่อควบคุมมาตรฐานของร้านตามที่กำหนดไว้

นอกจากการจัดเตรียม ความพร้อมแล้ว ก่อนการขายแฟรนไชส์ ที่กล่าวมาแล้ว สิ่งที่ต้องทำอีกเมื่อจะขายแฟรนไชส์ ก็คือ การทำสัญญาแฟรนไชส์ การทำเอกสารและสื่อเพื่อแนะนำธุรกิจแฟรนไชส์ การทำการตลาดสรรหาแฟรนไชซี่ การคัดเลือกแฟรนไชส์ การสรรหาทำเลเปิดร้าน การสร้างร้าน และการอบรม

 

6.สร้างแบรนด์ สร้างชื่อให้เป็นที่รู้จัก

หน้าที่สำคัญของผู้ขายแฟรนไชส์ ก็คือการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งก็เท่ากับเป็นการสร้างรายได้เข้าให้กับบริษัทแม่เอง หลายคนเดินผิดทาง มีจุดหมายขายแฟรนไชส์ เพื่อหวังค่าธรรมเนียมแรกเข้าอย่างเป็นกอบเป็นกำ โดยไม่ได้เอาใจใส่ในการทุ่มทุน ทุมแรงในการสร้างแบรนด์ และทำการตลาดให้สินค้า-บริการ ของตัวเองให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้าในวงกว้าง ซึ่งจะนำมาสู่ยอดขายที่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ ให้กับร้านแฟรนไชซี่ และเป็น Key Success ที่จะย้อนกลับมาที่บริษัทแม่อย่างมั่นคงกว่า ในรูปของค่าธรรมเนียมรายเดือน ซึ่งรายได้ที่แท้จริงจากการทำระบบแฟรนไชส์ บริษัทผู้ขาย แฟรนไชส์ส่วนมาก ที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะขาดทักษะในการสร้างแบรนด์ หรือการทำการตลาดเพื่อสร้างเม็ดเงินเข้าร้านสาขาอย่างต่อเนื่อง

 

7.วางโรดเมฟ ในการขยายธุรกิจ

ผู้ที่ขายแฟรนไชส์ จะต้องมีแผนการอยู่ในใจว่าต้องการขยายธุรกิจอย่างไร เช่น เปิดเพิ่มในปีหน้า 100 สาขา หรือ ออกตัวแบบนิ่มๆไปก่อน 2 สาขา จะเห็นว่า การตั้งเป้าหมายทั้ง 2 แบบนี้ต่างกันสุดขั้ว การวางเป้าหมายมีความสำคัญ สำหรับกำหนดทิศทาง ว่ากิจการจะเดินไปอย่างไร จะทำอะไรบ้าง แค่ไหน อย่างไร เช่น การใช้งบการตลาด การเตรียมสรรหาพื้นที่ การจัดเตรียมบุคลากร การหาเงินทุน การทำการตลาดเพื่อขายแฟรนไชส์ เป็นต้น เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางเอาไว้

 

8.ทำสัญญาแฟรนไชส์ และ เอกสาร สื่อ เพื่อขายแฟรนไชส์

ก่อนการขายแฟรนไชส์ สิ่งที่ต้องทำอีกเมื่อจะขายแฟรนไชส์ ก็คือ การทำสัญญาแฟรนไชส์ การทำเอกสารและสื่อเพื่อแนะนำธุรกิจแฟรนไชส์ คนส่วนมาก เมื่อมีใครร้องขอต้องการซื้อแฟรนไชส์ สิ่งแรกที่ทุกคนอยากได้ คือ สัญญาแฟรนไชส์ แต่ทราบไหมว่า สัญญาแฟรนไชส์นั้น ต้องมีความเป็นธรรม คือ Win Win กันทุกฝ่าย และถ้าไม่วินก็บังคับตามกฏหมายไม่ได้ นอกจากนี้แล้วในสัญญาแฟรนไชส์ ก็มีรายละเอียดมากมาย ที่ไม่อาจกล่าวถึงในที่นี้ได้ ดังนั้นถ้าจะขายแฟรนไชส์ก็ต้องหาความรู้ และฟังประสบการณ์เพิ่มจากคนที่เคยผ่านปัญหามาแล้วน่าจะช่วยได้ระดับหนึ่ง

ส่วนเอกสารการขายแฟรนไชส์ หรือ สื่อ หรือพรีเซนเตชั่น เพื่อแนะนำธุรกิจก็จะต้องมีการจัดทำขึ้นมา เชื่อไหมว่า คำถาม ที่คนต้องการทราบก่อนตัดสินใจจ่ายตังค์ ของทุกคนที่ต้องการซื้อแฟรนไชส์ จะเหมือนๆกัน เช่น ต้องการรู้ว่า กิจการบริษัทแม่มั่นคงหรือไม่ การลงทุนเป็นอย่าง เรื่องการเลือกทำเลใครเลือก ทำแล้วจะได้กำไรจริงไหม เป็นต้น ซึ่งเอกสารในการนำเสนอธุรกิจแฟรนไชส์ ก็คือการตอบโจทย์ ในข้อสงสัยเหล่านั้นนั่นเอง มีข้อแนะนำง่ายๆ คุณสามารถดูแบบของเอกสารการขายแฟรนไชส์ เหล่านี้ได้ จากงานออกบูทขายแฟรนไชส์ ที่มีมากมายหลายรูปแบบ ที่สามารถได้ไอเดียมาจัดทำของตัวเองได้ (ไม่ควรก็อปปี้ ควรดูเป็นไอเดียเท่านั้น)

 

9.ทำการตลาดแฟรนไชส์

เมื่อคุณมีความพร้อมในการขายแฟรนไชส์ จะหาคนมาซื้อธุรกิจได้อย่างไร ไม่ยากเลย ถ้าร้านคุณเป็นร้านขายดี จะมีคนวิ่งมาให้คุณเลือกมากมาย แต่ถ้ากิจการคุณยังไม่ถึงขั้นนั้น หรือต้องการผู้สนใจที่ตรงสเป็ก ก็ต้องทำการตลาดซึ่งแนะนำว่า คุณควรใช้หลายรูปแบบ เช่น สื่อออนไลน์ ออกบูท ซื้อโฆษณาสื่อออนไลน์ หรือ เวปที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว หรือแม้กระทั้งติดป้ายเล็กๆ แต่เห็นได้ง่ายภายในร้านของตัวเอง เป็นต้น แต่ถ้ายังไม่พอ คุณก็ใช้มืออาชีพจัดการให้ซะเลย ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจเหมือนกัน

 

10.ขายแฟรนไชส์ และบริหารแฟรนไชซี่

เราจะปิดการขายแฟรนไชส์ได้อย่างไร เท่าที่เห็น ส่วนใหญ่จะกังกลการขายแฟรนไชส์ให้รายแรก แต่เมื่อผ่านไปได้ 1 ราย รายต่อๆไป ก็ไม่ใช่ปัญหาแล้ว แต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่า สำคัญกว่า คือ การช่วยเหลือ สนับสนุนแฟรนไชซี่ เมื่อมีการขายแฟรนไชส์ไปแล้ว สิ่งที่ต้องทำก็คือ การเปิดร้าน การเป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินงานช่วงเริ่มต้น และสร้างระบบการสนับสนุนที่ต่อเนื่อง รวมไปถึง พัฒนาสิ่งใหม่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า อย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งนี้เพื่อทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ มีความพึงพอใจที่จะต่อสัญญาในรอบต่อไป เพราะเห็นประโยชน์จากแรงสนับสนุนของบริษัทแม่ แต่ถ้าแฟรนไชส์ของคุณส่วนใหญ่ต้องการจะโบกมือลา คุณต้องกลับมาทบทวนระบบการบริหารร้านแฟรนไชซีและแก้ไขในเรื่องนี้ด่วน

cr.franchisefocus
#TopBusiness

2 Comments

  1. สนใจทำธุรกิจเฟรนไชส์ ต้องการวางระบบ และสัญญาที่เป็นระบบค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

สอบถามข้อมูล