ทำธุรกิจแบบ “ชิงสุกก่อนห่าม” ยิ่งโตเร็ว = เจ๊ง!

การทำธุรกิจก็เหมือนชีพจรชีวิต เต้นเหมือนกับจังหวะของหัวใจ เร็วไปก็ไม่ดี ช้าไปก็ไม่ดี เพราะฉะนั้น การทำธุรกิจใดก็ตามแต่ ประเด็นไม่ได้อยู่ตรงที่ ‘เร็วไป-ช้าไป’ แต่จุดโฟกัสอยู่ที่ว่า ธุรกิจเติบโตมั่นคงและดำรงอยู่ได้อย่างยาวนานและสง่างามแค่ไหน

บทความนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณจิรภัทร สำเภาจันทร์ หรือ “พี่กบ” ที่น่ารักกับทุกคนในครอบครัวใหญ่ สมาชิกสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ (FLA) โดยคุณจิรภัทร เป็นผู้บุกเบิกแฟรนไชส์ร้านสารพัดบริการรายแรกของประเทศไทย และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดและธุรกิจแฟรนไชส์

โดยเว็บไซต์สมาคม FLA ขออนุญาตหยิบยกบทความดีๆ ของ พี่กบ ที่น่าสนใจ บทความหนึ่งว่าด้วยเรื่อง การสร้างแบรนด์และบริหารธุรกิจ ภายใต้สภาวะการณ์ที่เหมาะสม จะสร้างแบรนด์ จะทำตลาด จะขยับขยายสาขาอย่างไรนั้น ไม่มีใครรู้ดีได้เท่ากับตัวคุณ

คุณจิรภัทร (พี่กบ) เขียนบทความความรู้ธุรกิจ ใจความน่าสนใจดังกล่าวเอาไว้ว่า ส่วนตัวได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่อง การพัฒนาการตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ ให้กับผู้ประกอบการ ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่จัดมานานนับสิบปี อบรมฟรี พร้อมการนำพาโอกาสดีๆ เข้าสู่ตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ในอนาคต  ชื่อว่าหลักสูตร “Franchise B2B”

ในห้องอบรมนั้น ผมได้เช็คประเภทของผู้ประกอบการไทยที่เข้าเรียน  พบว่า ธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม ยังคงครองแชมป์อันดับหนึ่ง  ในการมุ่งหาโอกาสในการขยายธุรกิจด้วยระบบนี้  แต่ยังเผชิญหน้ากับปัญหาเรื่องการจัดการระบบปฏิบัติการหลังบ้าน เรียกว่า มีสูตรอาหารรสเด็ด เครื่องดื่มรสโดน แต่เวียนหัวไม่ลงตัวกับการจัดการต้นทุน (Food cost) ที่สูงเกินไป หรือ ระบบ QSC (คุณภาพ/การบริการ/ความสะอาด) ยังไม่ผ่าน ซึ่งทำให้ ถ้าขืนยังฝืนดันทุรังขยายสาขาไปมากๆ ยิ่งจะเป็นการทำให้เกิดเหตุการณ์ ยิ่งขยายสาขา ยิ่งเจ๊ง… ยิ่งยากจนได้ง่าย

ดังนั้นภาพธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหาร จึงไม่ได้สวยหรูนัก ถ้าไม่เตรียมความพร้อมของกิจการให้ฟิตพอที่จะจัดการหลังบ้านให้เรียบร้อยไปได้  เพราะขยายสาขามากมาย  แต่ยอดขายไม่ได้เพราะลูกค้ายี้ เหม็นขี้หน้าร้านเรา  หรือเพราะที่ร้านสกปรก มีแมลงสาบลาดตระเวน กองทัพหนูเดินพาเหรด  ส่วนพนักงานก็นั่งเล่นไลน์ หน้าหงิกงอ  ทำผมหลากสี ไม่ดูแลลูกค้า

ส่วนอาหารจานที่จัดมาก็ดันไม่ตรงกับภาพโฆษณาในเมนู…แตกต่างราวฟ้ากับเหว รสชาติไม่คงที่   ต้นทุนอาหารก็ไม่คุม ไม่คำนวณ ปล่อยให้ต้นทุนอาหารสูงปรี๊ด  แบบนี้รับประกันได้  เหล่าสาขาต่างๆ ของร้านที่เปิดมากมาย จะยอดขายไม่ดี ขาดทุนย่อยยับ จะแปลงสภาพกลายเป็นเครื่องสูบน้ำ(เงิน) ที่ดูดเงินจากบริษัทแม่ออกพร้อมๆ กันหลายๆ สาขา

ลองคิดดูว่า ช่วงเวลาที่คุณเริ่มต้นทำสาขาน้อยๆ ตัวเลขยอดขายดีมีกำไร ตรงตามเป้า แต่วาดฝัน ก็คิดว่ายิ่งมีสาขาเยอะ  จะยิ่งทำเงิน  ปั๊มสตางค์เข้ากระเป๋าตลอดเวลา  ยิ่งขายแฟรนไชส์จะยิ่งร่ำรวย ประหนึ่งว่า มีเครื่องผลิตเงินของตนเอง อันนี้บอกเลยว่า…เป็นความคิดที่ผิดและเพ้อเจ้อมาก … และกลายเป็นความทุกข์ที่ถาโถมมาหาคนซื้อแฟรนไชส์และคนขายแฟรนไชส์  อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะฉะนั้น สิ่งที่อยากฝากบอกและต้องย้ำกันตลอด คือ ถ้าระบบหลังบ้านของร้านของธุรกิจ มีความพร้อมที่ดี  สร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจ ให้กับลูกค้า  ประเภทหลงรักแล้วล่ะก็ ลูกค้าจะจดจำในแบรนด์ ไม่ว่าท่านจะตั้งชื่อแบรนด์ได้เรียกยากเย็นสักแค่ไหน  ลูกค้าก็ยังจะชื่นชอบ  และลูกค้าจะเป็นคนมาถามและขอซื้อแฟรนไชส์ของกิจการเองโดยแทบไม่ต้องโปรโมทใดๆ

แต่ในทางกลับกัน ในบางครั้ง ลูกค้าก็มาถามขอซื้อแฟรนไชส์เร็วไปหน่อย  ระบบหลังบ้านยังไม่ดี  แต่อดใจไม่ไหว ดันขายแฟรนไชส์ไปโดยยังไม่พร้อม  อันนี้จะคล้ายๆ วัยรุ่นชิงสุกก่อนห่าม จนท้องก่อนเรียนจบ  เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการที่มีคนมาขอซื้อแฟรนไชส์โดยไม่ทันตั้งตัว  ขอเตือนเอาไว้หน่อยว่า ต้องคิดให้ดีและหักห้ามใจดีๆ ใจเย็น ท่องพุทโธไว้ก่อน แล้วรีบเรียนรู้เรื่องแฟรนไชส์  รวมถึงจัดระบบให้เรียบร้อย  จากนั้นท่านจะไปได้อย่างฉลุย

          ธุรกิจอาหารหรือธุรกิจไหนๆ ที่คิดจะขยายสาขา  ถ้าพร้อมและเรียนรู้จนเข้าใจสู่ระบบแฟรนไชส์จริงๆ  ก็สามารถเติบโตได้อย่างกับติดจรวดเลยทีเดียวครับ

 

บทความโดย

อาจารย์ จิรภัทร สำเภาจันทร์
– กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท็อป บิสสิเนส คอนซัลแทนท์ แอนด์ แมนเนจเมนท์จำกัด
– ผู้บุกเบิกแฟรนไชส์ร้านสารพัดบริการรายแรกของไทย
– ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้าน กลยุทธ์ธุรกิจแฟรนไชส์ ค้าปลีก

TOP BUSINESS
Credit : สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ / https://www.flathailand.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

สอบถามข้อมูล