“มาสเตอร์แฟรนไชส์” ไพ่ตาย พาธุรกิจเลเวลอัพ!
สำหรับธุรกิจที่พร้อมขยายตลาดด้วยระบบแฟรนไชส์ในต่างประเทศ แม้กิจการจะมีความพร้อมภายในองค์กรแล้ว แต่เมื่อต้องการขยายออกไปสู่ตลาดนอกพื้นที่ ต้องทำการบ้านอย่างหนัก รวมทั้งศึกษาโอกาสในการต่อยอดธุรกิจและแผนกลยุทธ์อย่างรอบด้าน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้คู่ค้าหรือแฟรนไชส์ซีสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น และเติบโตได้
การให้สิทธิ์แฟรนไชส์มีข้อดีหลายประการ คือ เมื่อองค์กรมีความพร้อมในระดับหนึ่ง สามารถบริหารจัดการภายในได้ลงตัว มีทีมงานพร้อม และต้องการขยายช่องทางการตลาดด้วยระบบแฟรนไชส์ จะทำให้กิจการขยายได้รวดเร็ว โดยให้สิทธิ์คนท้องถิ่นที่มีความชำนาญและมีข้อมูลท้องถิ่น ดำเนินการแทนองค์กรธุรกิจได้ โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนและพนักงานของส่วนกลาง
ขออนุญาตพาย้อนกลับในงาน Thaifex เมื่อวันที่ 29 พ.ค.- 2 มิ.ย. 2561 ของปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ากิจการร้านอาหารเครื่องดื่ม กาแฟ จำนวนไม่น้อย ประกาศตัวในงานว่ารับสมัคร “มาสเตอร์ แฟรนไชส์ (Master Franchises) ในต่างประเทศ” โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ บริษัทในเครือCP ก็นำ brand ธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม มาประกาศรับซื้อสิทธิ์แฟรนไชส์ในต่างแดน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แม้กระทั่งผู้ประกอบการรายใหญ่ อย่าง CP Retailink ที่ขนสารพัดแบรนด์ อาทิ กาแฟมวลชน Arrabiata Jungle, Duck Land , Slim& Sixpack มาเปิดตลาดหาคู่ค้าต่างชาติมาร่วมลงทุน
แม้กระทั่งช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา “บางจาก” ก็ปล่อย brand อินทนิล ในรูปแบบมาสเตอร์แฟรนไชส์ ขายไปยังประเทศกัมพูชา ให้กับนักธุรกิจท้องถิ่นนำไปดำเนินการขยายตลาด ครั้งแรกภูมิภาค
หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจ “มาสเตอร์ แฟรนไชส์” (Master Franchises) เป็นอย่างไร ซึ่งเป็นรูปแบบการให้สิทธิ์แก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่ได้รับอนุญาตให้ไปประกอบการธุรกิจในประเทศใดๆ ที่ตกลงกันไว้ โดยสามารถให้สิทธิ์แฟรนไชส์ต่อไปกับผู้อื่นในประเทศนั้นๆ อีกได้ด้วย หรือจะดำเนินการขยายสาขาด้วยตัวเองก็ย่อมได้ โดยผู้ซื้อสิทธิ์จะมีสิทธิและหน้าที่คล้ายเจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์ แต่ก็เฉพาะในพื้นที่ประเทศที่กำหนดไว้เท่านั้น
ในกรณีของ 7-11 กิจการในเครือซีพี ก็ซื้อสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ จากบริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกา มาดำเนินการต่อในเมืองไทยได้ประเทศเดียวเท่านั้น โดยยังให้สิทธิ์แบบ Area Franchises กับนักท้องถิ่นในบางจังหวัด (ให้สิทธิ์แบบเหมาพื้นที่ในเขตจังหวัด) หรือขายให้กับนักลงทุนรายย่อยเป็นรายสาขา (Single Unit Franchise) ก็ย่อมได้
ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน กิจการบางอย่างที่ดูแล้วไม่น่าจะขยายเป็นแฟรนไชส์ได้ ก็สามารถขยายกิจการได้เป็นอย่างดี เช่น ในคอนโดฯ หรือหมู่บ้านจะต้องมีนิติบุคคลดูแลหมู่บ้าน ก็มีกิจการเปิดแฟรนไชส์รับบริหารนิติบุคคลหมู่บ้าน เปิดกันเป็นเรื่องเป็นราว มีขนาดกิจการระดับ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเลยทีเดียว
ย้อนกับมาดูกิจการของเรากันสักหน่อย ถ้าสำรวจแล้วสามารถขยายตลาดต่อไปได้ในต่างพื้นที่ ก็อาจลองศึกษาวิถีแฟรนไชส์ให้เข้าใจถ่องแท้ ธุรกิจยุคนี้โชคดีที่มีที่ปรึกษาด้านแฟรนไชส์เก่งๆ และเครื่องมือพิเศษในการบริหารงานขยายสาขาที่ช่วยให้ง่ายขึ้น
การบุกตลาดต่างประเทศโดยระบบแฟรนไชส์จะทำให้กิจการธรรมดาที่เคยเล็กๆ ในประเทศไทย สามารถมีโอกาสไปสยายธงไทยในต่างแดนได้ แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ต้องตั้งทรงธุรกิจให้ดี วางกลไกแฟรนไชส์ให้เรียบร้อย ศึกษาข้อกฎหมายประเทศปลายทางในเรื่องการจดตราสินค้า กฏหมายแฟรนไชส์ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และวางแผนอย่างรอบคอบก่อนบุกตลาดต่างประเทศ
กลยุทธ์ มาสเตอร์ แฟรนไชส์ อาจไม่ได้เหมาะกับทุกกลุ่มกิจการอาจจะต้องศึกษาได้ดี และแม้ธุรกิจในระบบแฟรนไชส์จะประสบความสำเร็จในประเทศ แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวการันตีความสำเร็จในประเทศอื่นด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของแฟรนไชส์ซีในแต่ละประเทศด้วย
บทความโดย
อาจารย์ จิรภัทร สำเภาจันทร์
– กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท็อป บิสสิเนส คอนซัลแทนท์ แอนด์ แมนเนจเมนท์จำกัด
– ผู้บุกเบิกแฟรนไชส์ร้านสารพัดบริการรายแรกของไทย
– ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้าน กลยุทธ์ธุรกิจแฟรนไชส์ ค้าปลีก
TOP BUSINESS
Credit : สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ / https://www.flathailand.com