สูตรพัฒนาธุรกิจ! ฉบับผู้ประกอบการ SMEs
SMEs จำนวนไม่น้อยที่ต้องปิดกิจการ เพราะผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่นั้นมีความฝันและความมุ่งมั่นแต่มีความรู้เฉพาะด้าน ซึ่งมักมาตายเรื่องบริหาร บางรายเก่งเรื่องการผลิตแต่ไม่รู้วิธีจัดการบัญชี บางรายเก่งเรื่องสินค้าแต่บริหารงานขายไม่เป็น บางรายเก่งเรื่องทำตลาดแต่ไม่สามารถบริหารคนได้ ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเป็นเรื่องของการบริหารจัดการทั้งสิ้น
ส่วนใหญ่แล้วผู้ประกอบการ SMEs เริ่มต้นจากการเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อมีความฝันอยากสร้างธุรกิจเอง ก็จะขาดทักษะในการบริหารจัดการ ไม่รู้ว่าต้องทำอะไร ควรทำอะไร หรือทำอย่างไรก่อนหลัง เพื่อให้ได้เป้าหมายตามที่ใจต้องการ พูดง่ายๆ คือ ไม่กล้าตัดสินใจกับปัญหาที่ต้องจัดการ เนื่องจากขาดความรู้หรือประสบการณ์ที่ตนเองทำไม่ได้
แต่ก็มีผู้ประกอบการหลายรายที่มีความรู้ความสามารถรอบด้าน แต่ด้วยยุคดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงไปไวราวกับปลูกเห็ด ทำให้ตามโลกตามตลาดไม่ทัน อ่านทิศทางธุรกิจไม่ออก พัฒนาสินค้าไม่เป็น ผลิตแต่สินค้าบริการเดิมๆ จนยอดขายตก ปัญหานี้ก็พบเจอบ่อยเช่นกัน
จริงๆ แล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่สินค้าขายไม่ดี แต่อยู่ที่ว่าสินค้าหรือบริการได้รับการพัฒนารึเปล่า ผู้ประกอบการมักจะมองสิ่งนี้ไม่ออก ผู้ผลิตสินค้าส่วนใหญ่มักจะมีความเชื่อมั่นในสินค้าตัวเองสูง ว่าสินค้าฉันนั้นดี สินค้าฉันนั้นเด่น เจ๋งสุดๆ แต่ลืมมองไปว่าตลาดต้องการอะไร คู่แข่งมากน้อยแค่ไหน แล้วโลกนี้พัฒนาไปถึงไหนแล้ว สิ่งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องการบริหารจัดการด้านการตลาด
การบริหารจัดการไม่ได้มีเพียงแค่ด้านการตลาดด้านเดียว แต่ยังมีอีกหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชี การบริหารจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์ การบริหารจัดการด้านการผลิต การบริหารจัดการด้านคลังสินค้าการขนส่ง และการบริหารจัดการลูกค้า ทั้งหมดทั้งมวลนี้เกี่ยวข้องกับ SMEs ทั้งสิ้น ที่ผู้ประกอบการจะต้องเผชิญและบริหารแก้ไขปัญหาในแต่ละวัน
แต่ถ้าผู้ประกอบการเก่งด้านใดด้านหนึ่ง แต่ไม่เก่งอีกด้านหนึ่งหละ จะทำอย่างไร? โดยบทความนี้ FLA พน้อมนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหานี้มาแนะนำ และสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง
วิธีแรก ผู้ประกอบเข้าฝึกอบรมในคอร์สหรือหลักสูตรระยะสั้นเฉพาะด้านหรือคอร์สสัมมนา เพื่อเรียนรู้ฝึกทักษะต่างๆ ในสิ่งที่ตนเองไม่รู้ครับ เช่น คอร์สการทำบัญชีเบื้องต้น สัมมนาด้านการตลาด คอร์สทักษะผู้นำหรือบริหารมนุษย์ คอร์สพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ คอร์สเหล่านี้ทำให้เราเรียนรู้วิธีต่างๆ ได้จากผู้ที่มีประสบการณ์ แล้วนำความรู้ที่ได้รับมานั้น ไปใช้ในการบริหารจัดการด้านต่างๆ อีกที
วิธีการที่สอง คือ การจ้างพนักงานเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาทำงานเป็นพนักงานในองค์กร เป็นวิธีการที่องค์กรส่วนใหญ่ปฏิบัติกัน แต่ถ้าผู้ประกอบการเองไม่มีทักษะเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ ไม่มีจิตวิทยาด้านบริหารบุคคล หรือจ่ายผลตอบแทนไม่จูงใจเพียงพอ อันนี้ก็จะเป็นปัญหาในการรักษาคนเก่งที่จะทำงานให้องค์กรได้
ขอเสริมอีกหนึ่ง
วิธีการที่สาม โดยผู้ประกอบการ SMEs เริ่มหันมาใช้กันมากขึ้น ก็คือ การจ้างที่ปรึกษา ซึ่งที่ปรึกษานั้นจะรับฟังปัญหาและความต้องของผู้ประกอบการ พร้อมให้ความรู้ เล่าประสบการณ์และวิธีการในการแก้ไขปัญหาบริหารจัดการเรื่องต่างๆ แล้วนำปัญหากับความต้องการของผู้ประกอบการมาคิดวิเคราะห์หรือวางแผนงานให้กับผู้ประกอบการนำไปปฏิบัติใช้ในกิจการของตนเอง และยังได้ผลลัพธ์ที่ดีอีกด้วย
การทำธุรกิจในทุกวันนี้หลายคนอาจมองว่ายาก แต่หากคุณไม่หยุดพัฒนาทั้งสินค้าและตัวคุณเอง ให้สามารถดำเนินอยู่ได้ท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล และนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน ก็ไม่ต้องกลัวว่าธุรกิจเจ๊งแน่นอน
บทความโดย
อาจารย์ จิรภัทร สำเภาจันทร์
– กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท็อป บิสสิเนส คอนซัลแทนท์ แอนด์ แมนเนจเมนท์จำกัด
– ผู้บุกเบิกแฟรนไชส์ร้านสารพัดบริการรายแรกของไทย
– ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้าน กลยุทธ์ธุรกิจแฟรนไชส์ ค้าปลีก
TOP BUSINESS
Credit : สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ / https://www.flathailand.com