เทคนิคการเลือกที่ปรึกษา มาพัฒนาระบบแฟรนไชส์
เทคนิคการเลือกที่ปรึกษา มาพัฒนาระบบแฟรนไชส์
ในการลงมือขยายสาขาแฟรนไชส์ ความรู้ความเข้าใจในระบบแฟรนไชส์เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรู้ เพราะมีหลายต่อหลายกิจการที่ตัดสินใจขายแฟรนไชส์ไปโดยที่ยังไม่มีความเข้าใจดีพอ สิ่งหนึ่งที่จะช่วยผู้ประกอบการลดความผิดพลาดในจุดนี้ได้ คือการสรรหาที่ปรึกษาแฟรนไชส์มาช่วยออกแบบพัฒนาระบบ ด้วย 8 เทคนิคในการเลือกที่ปรึกษาแฟรนไชส์ ที่นำมาฝากให้คิดพิจารณาดังนี้
1. เลือกที่ปรึกษาที่เน้นกระบวนการปฏิบัติที่ประยุกต์ใช้ได้จริง
ที่ปรึกษาที่ดีควรมีทั้งความรู้และประสบการณ์จริงที่ไม่มีสอนในตำรา แต่เป็น Know-How ที่กลั่นออกมาเป็นแนวทางปฏิบัติและสามารถนำไปปรับใช้ได้ง่าย รวมถึงสามารถวิเคราะห์ถึงศักยภาพทางธุรกิจ ว่ามีจุดแข็งด้านใดที่สามารถพัฒนาศักยภาพให้เติบโต และสกัดจุดอ่อนของธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้
2. เลือกที่ปรึกษาที่ให้คำแนะนำอย่างตรงไปตรงมา
เมื่อเรามองหาที่ปรึกษาธุรกิจ คือเรามองหาคนที่จะมาช่วยแนะนำในสิ่งที่ตนเองยังขาดความรู้และประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ ดังนั้นหากเจอที่ปรึกษาที่เห็นด้วยตลอดเวลา ไม่แสดงความคิดเห็นที่ตรงกับความเป็นจริง อาจไม่สามารถสะท้อนในสิ่งที่ยังเป็นปัญหาและแนะนำวิธีการแก้ไขที่ถูกต้องได้
3. เลือกที่ปรึกษาที่มีแผนการให้คำปรึกษาอย่างเป็นระบบ
ที่ปรึกษาแฟรนไชส์ที่ดี ไม่ใช่เพียงแค่คอยรับฟังและให้คำแนะนำ แต่ควรมีการวางระบบและแนวทางในการให้คำปรึกษาตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ขาดความรู้และประสบการณ์ สามารถนำไปปฏิบัติตามได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามแผนที่ได้วางไว้
4. เลือกที่ปรึกษาที่มีการทำงานเป็นทีม
ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นระบบที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้ศาสตร์ความรู้ในหลายแขนง อาทิ การสร้างร้านต้นแบบ การวางระบบคู่มือปฏิบัติงาน การวางแผนกลยุทธ์การตลาด การวางแผนทางการเงิน การร่างกฎหมายแฟรนไชส์ เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดข้างต้น ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาช่วยคิดค้นและพัฒนา ดังนั้นเวลาเลือกที่ปรึกษา ต้องคำนึงเสมอว่า บริษัทที่คัดเลือกนั้น มีทีมผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาช่วยวางระบบหรือไม่
5. เลือกที่ปรึกษาที่เท่าทันเทคโนโลยี
ในปัจจุบันการเติบโตของเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นที่ปรึกษาที่ดีควรทันโลกและทันเหตุการณ์ สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ระบบแฟรนไชส์นั้นมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจได้
6. เลือกที่ปรึกษาที่มีระบบวัดผลความก้าวหน้าได้
สิ่งที่แสดงให้เห็นว่า การให้คำปรึกษานั้นก่อให้เกิดประโยชน์ก็คือ ตัว KPI หรือการมีตัวชี้วัดว่าการให้คำปรึกษานั้นมีประสิทธิภาพออกมาเป็นรูปธรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น หรือธุรกิจเติบโตขายแฟรนไชส์ได้ตามระยะเวลาที่ได้วางแผนไว้ เป็นต้น
7. เลือกที่ปรึกษาที่มีการการันตี
การที่ธุรกิจจะเติบโตแข็งแกร่งได้นั้น ก็มาจากการวางแผน การลงมือปฏิบัติ และการปรับปรุงแก้ไขที่ตรงจุด เพราะแม้จะมีการวางแผนกลยุทธ์ที่ดี แต่กว่าจะบรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้ได้นั้นต้องใช้เวลา ดังนั้นที่ปรึกษาที่ดีจึงควรอยู่ให้คำปรึกษาจนสามารถขยายแฟรนไชส์ เพราะนั่นหมายถึงการการันตีว่าที่ปรึกษา จะพาเราไปถึงจุดหมายที่วางร่วมกันไว้ได้
8. เลือกที่ปรึกษาจากความพึงพอใจที่ผ่านมา
เมื่อเราเลือกที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์มาพัฒนาระบบ แน่นอนว่าต้องมีผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์ ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจได้ว่าทีมที่ปรึกษานั้น มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด สามารถดูได้จากข้อมูลความพึงพอใจที่ผ่านมา เพื่อให้เราได้ศึกษาประกอบการพิจารณาได้
เหตุผลที่ควรจ้างที่ปรึกษานั้น เพราะการทำแฟรนไชส์คือการขายสิทธิ์กิจการทั้งระบบ กอปรกับธุรกิจแฟรนไชส์นั้นมีการแข่งขันสูง หากวางระบบไม่ดีและขาดกลยุทธ์ในการแข่งขัน เมื่อขายแฟรนไชส์ออกไป อาจก่อให้เกิดความผิดพลาดส่งผลต่อธุรกิจต้นแบบที่ทำอยู่ได้