10 เช็คลิสต์ เตรียมความพร้อม ก่อนขยายธุรกิจด้วย “วิถีแฟรนไชส์”

10 เช็คลิสต์ เตรียมความพร้อม ก่อนขยายธุรกิจด้วย “วิถีแฟรนไชส์”

การขยายธุรกิจด้วย  “วิถีแฟรนไชส์”  นักธุรกิจหรือผู้ประกอบการหน้าใหม่  จะต้องมีการทำให้เข้าใจในหลักการเพื่อการต่อยอดธุรกิจได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เริ่มด้วยการลองเช็คความพร้อมของธุรกิจที่มี ด้วย 10 ข้อเช็คลิสต์ เพื่อดูว่าธุรกิจของท่าน พร้อมหรือยังกับการขยายสาขาด้วย “วิถีแฟรนไชส์”

1. วิเคราะห์ศักยภาพทางธุรกิจ (Business potential analysis)
ก่อนอื่นผู้ประกอบการต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่ทุกธุรกิจจะสามารถขยายสาขาด้วยแฟรนไชส์ได้ ธุรกิจที่จะขยายแฟรนไชส์ต้องเป็นธุรกิจที่สามารถวางระบบให้ผู้อื่นไปศึกษาวิธีการและทำตามมาตรฐานที่เจ้าของแฟรนไชส์ได้วางไว้ นอกจากนั้นธุรกิจที่จะขยายสาขาควรมีความตั้งใจที่จะสร้างแบรนด์ให้คนทั่วไปรู้จัก เป็นที่นิยมชมชอบของลูกค้า เป็นที่ต้องการของตลาด เป็นต้น

2. วางกรอบเวลาและงบประมาณที่แน่ชัด (Set a time frame and budget)
การขยายสาขาด้วยตนเองกับการขยายสาขาด้วยระบบแฟรนไชส์นั้นไม่เหมือนกัน การขยายด้วยแฟรนไชส์เป็นการขายสิทธิ์ทางธุรกิจให้ผู้อื่น ผู้ขายแฟรนไชส์จึงต้องมีการวางแผนทั้งในเรื่องกรอบเวลาและงบประมาณในเรื่องต่างๆ อาทิ เวลาในการเตรียมการขยายธุรกิจ การจ้างบุคลากรในการขายแฟรนไชส์ การทำการตลาดเชิญชวนนักธุรกิจหน้าใหม่ รายละเอียดเงินลงทุนในการเปิดแฟรนไชส์ และอัตราการเก็บค่าธรรมเนียม เป็นต้น

3. แวดล้อมไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในสายงานต่างๆ (Surrounded by franchise experts)
สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนหน้าใหม่มักเข้าใจผิดในธุรกิจแฟรนไชส์ก็คือ คิดว่าแฟรนไชส์คือการขายสิทธิ์และรอเก็บค่าธรรมเนียมเพียงอย่างเดียว บ้างก็คิดว่าเป็นขายสูตรและให้ผู้ซื้อสิทธิ์ได้ไปทำต่อ ซึ่งความเข้าใจผิดเหล่านี้ ทำให้ธุรกิจที่ขายสิทธิ์ไปนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ เพื่อให้การขยายสาขาเป็นไปอย่างมีระบบและถูกต้อง ผู้ขายแฟรนไชส์จึงต้องสรรหาผู้เชี่ยวชาญในสายงานแฟรนไชส์ อาทิ ผู้วางระบบ ผู้วางกลยุทธ์ทางด้านแฟรนไชส์ นักกฎหมายแฟรนไชส์ นักฝึกอบรมสาขาแฟรนไชส์ เป็นต้น

4. เตรียมเอกสารสำคัญให้ครบถ้วน (Prepare franchise documents)
เอกสารเป็นเรื่องที่ผู้ขายแฟรนไชส์ต้องลงลึกถึงรายละเอียด เพราะเอกสารสำคัญต่างๆ นั้น เป็นข้อผูกพันทางกฎหมาย อาทิ เรื่องการจัดตั้งธุรกิจ เอกสารสัญญาแฟรนไชส์ที่ต้องระบุข้อปฏิบัติระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายแฟรนไชส์ไว้อย่างชัดเจนและถูกต้อง รวมไปถึงต้องจัดทำคู่มือปฏิบัติการแฟรนไชส์เพื่อให้ทุกสาขาสามารถยึดเป็นแนวทางในการบริหารสาขาให้เป็นไปตามมาตรฐานที่วางไว้ เป็นต้น

5. สร้างระบบควบคุมแฟรนไชส์อย่างเหมาะสม (Create a franchise control system)
นอกจากจะต้องบริหารธุรกิจต้นแบบของตนเองให้มั่นคงแข็งแรง ผู้ขายแฟรนไชส์ต้องให้ความสำคัญในการบริหารสาขาด้วย โดยอาศัยการวางระบบที่สามารถประเมินผลหรือตรวจสอบการปฏิบัติงานของแต่ละสาขาได้ ไม่ว่าจะเป็นการรายงานประจำวันและประจำเดือน มีการตรวจเยี่ยมหน้าร้านเพื่อดูมาตรฐานการบริการ เพื่อให้สินค้าและบริการที่ออกไปสู่ลูกค้านั้นมีคุณภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

6. พัฒนาแผนการเติบโตทางธุรกิจแฟรนไชส์ (Develop a growth plan)
ธุรกิจแฟรนไชส์คือการขยายสาขา ดังนั้นผู้ขายแฟรนไชส์ก็ต้องมีการวางแผนว่า ในแต่ละปีจะขยายสาขามากน้อยเพียงใด เพราะการวางเป้าหมายข้างต้น จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจและงบประมาณที่ต้องใช้ เพื่อให้สำเร็จตามเป้าที่ได้วางไว้

7. พัฒนาแผนการการตลาด (Develop a marketing plan)
เพื่อการเดินหน้าให้ธุรกิจสาขาเติบโตขึ้น กลยุทธ์ทางการตลาดเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินควบคู่กันไปกับการบริหารสาขา ผู้ขายแฟรนไชส์ต้องมีการกำหนดทั้งแผนการตลาดโดยรวมสำหรับทุกสาขา (Corporate Marketing) รวมไปถึงกำหนดกลยุทธ์การตลาดให้แต่ละสาขาสามารถนำไปใช้ในพื้นที่ของตัวเองได้ (Local Marketing)

8. สร้างระบบประเมินผลแฟรนไชส์ (Create a franchise evaluation system)
เมื่อมีการขยายสาขามากขึ้น การบริหารจัดการที่รัดกุมก็ต้องทวีความเข้มข้น เพราะปัญหาของการขายแฟรนไชส์ส่วนใหญ่มาจากการไม่สามารถรักษามาตรฐานให้เท่ากันในทุกสาขา แฟรนไชส์ซอต้องมีการวางระบบการจัดการและประเมินผลงานของแฟรนไชส์ซี ว่าปฏิบัติได้ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้หรือไม่

9. ออกแบบกระบวนการฝึกอบรม (Design the training process)
ธุรกิจแฟรนไชส์ไม่ใช่การซื้อมาและขายไป แต่ผู้มาซื้อแฟรนไชส์คือคู่ค้าทางธุรกิจที่จะมาสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ร่วมกัน แต่การสร้างแบรนด์ไปด้วยกันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากผู้มาซื้อแฟรนไชส์นั้นขาดความรู้ความเข้าใจในธุรกิจต้นแบบ กระบวนการฝึกอบรมจึงต้องเข้ามามีบทบาทเพื่อถ่ายทอดกระบวนการที่ถูกต้องให้แก่ผู้มาซื้อแฟรนไชส์

10. ลงมือทำตามกระบวนการที่วางไว้ (Take Action)
เมื่อผ่านขั้นตอนเตรียมการต่างๆ ถึงเวลาที่ผู้ประกอบการต้องลงมือทำตามแผนการที่ได้วางไว้ โดยทุกขั้นตอนที่กล่าวมานั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้และประสบการณ์ ไม่ใช่ดูดีแค่วันเปิดร้าน แต่หลังจากนั้นกลับไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จนทำให้ลูกค้าไม่พึงพอใจในสินค้าและบริการ ส่งผลกระทบถึงสาขาอื่นๆ และสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์โดยรวม

สรุปแล้ว “วิถีแฟรนไชส์” จะสามารถเป็นกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจหรือไม่ ขอให้ทุกท่านพิจารณา 10 ข้อเช็คลิสต์ดังกล่าวข้างต้นให้ถี่ถ้วน เพราะการบริหารจัดการธุรกิจตนเองให้เติบโตนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่การบริหารธุรกิจแฟรนไชส์นั้นท้าทายกว่า เพราะธุรกิจแฟรนไชส์ไม่ใช่เพียงบริหารธุรกิจของตนเอง แต่เป็นการบริหารจัดการสาขาที่เป็นคู่ค้าทางธุรกิจของเราด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

สอบถามข้อมูล