11 เรื่องควรรู้! ก่อนจ้าง “ที่ปรึกษา” สร้างธุรกิจแฟรนไชส์

การที่จะเริ่มสร้างธุรกิจสู่ระบบแฟรนไชส์ หนึ่งสิ่งที่เป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จนั้น จำเป็นต้องมีที่ปรึกษาแฟรนไชส์ที่เก่งและมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะเข้ามามีบทความสำคัญช่วยให้ธุรกิจแฟรนไชส์สามารถดำเนินงาน และประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น เรามาดูกันว่า 11 เรื่องที่ควรรู้ ก่อนที่คุณจะจัดจ้าง “ที่ปรึกษา” เพื่อสร้างธุรกิจระบบแฟรนไชส์ นั้นมีอะไรบ้าง

1. แบรนด์ยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่อยากทำแฟรนไชส์

เจ้าของธุรกิจมักตั้งคำถามกับตัวเองว่า หากแบรนด์ยังไม่เป็นที่รู้จัก จะมีนักลงทุนสนใจแฟรนไชส์ได้ไหม ต้องสร้างแบรนด์ก่อนหรือไม่ เรื่องนี้ไม่ต้องกังวล เพราะปัจจุบันอิทธิพลของแบรนด์มีการเปลี่ยนแปลงไป เกิดจากผู้บริโภคยุคใหม่ไม่เลือกสินค้าจากชื่อเสียงของแบรนด์ และมีความซับซ้อนในกระแสต่างๆ มากมาย ยิ่งนักลงทุนรุ่นใหม่ อายุตั้งแต่ 42 ปี เป็นต้นมา ซึ่งเป็นนักลงทุนกลุ่มใหญ่ของธุรกิจแฟรนไชส์ สนใจเรื่องรูปแบบธุรกิจ  ความน่าสนใจของผลตอบแทนธุรกิจ  และอนาคตในการเติบโต  มากกว่าสนใจอิทธิพลของแบรนด์

สังเกตจากแบรนด์แฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว แทบไม่ได้ใช้งบจากเจ้าของแบรนด์ หากรู้เทคนิคการบริหารแฟรนไชส์ซีที่ดี แต่การเป็นที่รู้จักในชื่อเสียงนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสร้างแบรนด์   ยังมีความสำคัญเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการสร้างความพึงพอใจให้กลุ่มเป้าหมาย

2.ไม่คุ้นเคยกับระบบแฟรนไชส์

ไม่แปลกหากเจ้าของธุรกิจจะมองว่า ระบบแฟรนไชส์ คือ ความท้าทายใหม่ หากกิจการไม่เคยมีสาขาเลย ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องกังวล อาจเริ่มต้นด้วยการทำร้านสาขาของตนเองก่อน แล้วจึงพัฒนาไปสู่ระบบแฟรนไชส์ โดยวางกลวิธีที่ถูกต้อง เพื่อการโคลนนิ่งธุรกิจเดิมที่กิจการทำอยู่แล้ว ส่งมอบให้ผู้อื่นทำตามได้ โดยมีตัวล็อกบางส่วนเพื่อการควบคุมคุณภาพ   ดังนั้นวิธีการย่อมถูกถ่ายทอดให้คนอื่นทำ จะมีความสลับซับซ้อนในช่วงการวางระบบแรกๆ และดูแลสาขา

3. ขาดทีมงานที่เข้าใจระบบแฟรนไชส์

เป็นเรื่องปกติที่องค์กรจะมีทีมงานที่เข้าใจระบบในปัจจุบัน แต่จะไม่เข้าใจระบบใหม่ๆ เกี่ยวกับแฟรนไชส์ จึงจำเป็นจะต้องมีที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เข้ามาให้ความรู้และปรับทัศนคติของทีมงานให้คิดมุ่งไปในทางเดียวกัน ตลอดจนช่วยแบ่งเบาภาระงานใหม่ที่จะเกิดขึ้นให้กับทีมงานเดิมด้วย ขณะเดียวกันที่ปรึกษาก็จะช่วยประคองการทำงานของทีมงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย

4. มีทีมงานพร้อม แต่ยังต้องมีที่ปรึกษา

หากทีมงานของบริษัทฯ มีความพร้อมในงานอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การตลาด และการขาย แต่ใช่ว่าจะมีความเชี่ยวชาญด้านระบบแฟรนไชส์ เมื่อเผชิญกับการทำงานที่ไม่คุ้นเคยอาจเกิดแรงกดดันต่างๆ ตามมา และยังต้องจัดสรรหน้าที่กับงานประจำ  ทำให้งานล่าช้า ไม่ตรงเวลา  ด้อยคุณภาพ  ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง ฉะนั้น การมี “ที่ปรึกษา” จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ โดยเฉพาะงานที่เป็นหัวใจสำคัญในการควบคุมและสื่อสารกับร้านสาขา อาทิ  คู่มือแฟรนไชส์  ระบบการปฏิบัติงานระหว่างสาขาแฟรนไชส์ กับสำนักงานใหญ่

 

5. ที่ปรึกษา ออกแบบทั้งกลยุทธ์และระบบปฏิบัติงาน

การทำงานของทีมที่ปรึกษา มิใช่เพียงงานเอกสาร แต่มีองค์ประกอบใหญ่ ๆ สองประการ  คือ  งานกลยุทธ์ ที่ประกอบด้วยข้อมูล  ความคิด ประสบการณ์  การออกแบบธุรกิจ  เพื่อให้แผนงานและนโยบายในการปฏิบัติการมีความถูกต้อง  แม่นยำ ระบบจึงถูกคิดด้วยกลยุทธ์ และตรวจสอบด้วยตัวเลขทางการเงินและการคาดการณ์ผลลัพธ์ในทุกทางที่เป็นไปได้

และงานระบบปฏิบัติงาน จะเป็นการวางวิธีให้ผู้เกี่ยวข้องในงานแฟรนไชส์ปฏิบัติตาม ซึ่งมีกระบวนวิธีทั้งในเชิงเอกสาร  ภาพกราฟฟิค   power point   วีดีโอถ่ายทำ  การฝึกอบรม  การบรรยาย  การประชุม  การจัดกิจกรรมตัวอย่าง  และการ Coaching แต่ก็ยังมีความท้าทายที่ยากยิ่ง คือ ทุกแผนงานต้องเริ่มต้นให้ถูกต้องด้วยความเชี่ยวชาญ ถ้าเริ่มต้นผิด วางแผนผิด  เอกสารผิด  ก็จะปฏิบัติไปแบบผิดๆ และได้ผลลัพธ์ที่ผิดพลาดตามไปด้วย

6. ต้องวางระบบงานแฟรนไชส์ ผ่านความสำเร็จ 3 ขั้น

ระบบแฟรนไชส์เมื่อสร้างระบบเสร็จสิ้นแล้ว
ความสำเร็จขั้นที่ 1 คือ การทดลองขยายแฟรนไชส์ เพื่อหานักลงทุนเข้ามาสู่ธุรกิจ
ความสำเร็จขั้นที่ 2 คือ การบริหารจัดการสาขาที่เปิดใหม่  ให้มีความสำเร็จ เกิดรายได้ เกิดกำไร เป็นที่พึงพอใจของนักลงทุน และ
ความสำเร็จขั้นที่ 3 คือ การบริหารความสัมพันธ์ให้สาขาแฟรนไชส์ ทำกำไรให้กับบริษัทฯ ต่อเนื่อง เกิดรายได้ในเชิงส่วนแบ่งยอดขายเข้าสู่บริษัทยั่งยืน  มีกระบวนการจัดการสื่อสารและกระตุ้นการทำงานของสาขา
ความต่อเนื่องของความสำเร็จจะเป็นการบริหารให้เกิดปัญหาน้อย และผลลัพธ์ความสำเร็จมาก ต้องอาศัยความมุ่งมั่นทุ่มเทของผู้บริหาร พนักงาน และที่ปรึกษาร่วมกัน  โดยมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยเสริมการทำงานให้สะดวกยิ่งขึ้น

7. ไม่ว่าธุรกิจใด ก็สามารถสร้างแฟรนไชส์ได้

กิจการที่เป็นแฟรนไชส์ส่วนใหญ่ มิใช่เพียงร้านอาหาร หรือเครื่องดื่มเท่านั้น ยกตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น กิจการบริหารนิติบุคคลหมู่บ้าน/คอนโด ก็สามารถขยายด้วยระบบแฟรนไชส์ได้ โดยยอดขายปีละไม่น้อยกว่า 3000 ล้านดอลล่าสหรัฐ ส่วนในประเทศไทย เช่น ธุรกิจรับสร้างบ้าน  ก็ขยายด้วยระบบแฟรนไชส์จนประสบความสำเร็จ ยิ่งกิจการมีความน่าสนใจ  ใหม่  และแตกต่าง  ยิ่งเรียกร้องให้เกิดความน่าสนใจจากนักลงทุนได้มากขึ้น

8. ลงทุนกับงานวางระบบแฟรนไชส์

งานที่ปรึกษาในระบบแฟรนไชส์  เป็นการลงทุนครั้งเดียว เพื่อสร้างระบบที่ดีในการไปต่อยอดธุรกิจเดิม  ให้สร้างรายได้แบบไร้ขีดจำกัด โดยค่าแฟรนไชส์แรกเข้าในการวางระบบดีๆ ที่บริษัทจะได้รับนั้น  มีอัตราตัวเลขลงทุนระดับ หลักแสน ถึงหลักล้าน  ซึ่งคุ้มค่าต่อการจ้างงานที่ปรึกษาในการวางระบบให้ได้ผลตอบแทนคืนมาในเวลาไม่นานนัก  และลดการเกิดปัญหาในระยะสั้นและยาว

9. สร้างความเชื่อมั่นให้กับหุ้นส่วนและพนักงาน 

แรงขับเคลื่อนจากผู้นำองค์กร คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทีมงานเชื่อว่าแม้อนาคตจะมีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่ก็อยู่ในกรอบที่จำกัดความเสี่ยงไว้แล้ว  และผลลัพธ์ที่คาดหวังได้ จะคุ้มค่ากับการลงมือทำสิ่งใหม่ๆ ในงานที่ปรึกษาแฟรนไชส์ โดยอาจเริ่มจากให้ที่ปรึกษาเริ่มแบ่งงานทำทีละส่วน  แล้ววัดความสำเร็จแบบค่อยเป็นค่อยไป  เพื่อให้คนในองค์กรเห็นภาพความสำเร็จทีละส่วน  และหากเกิดข้อผิดพลาดใดๆ ก็จะไม่ร้ายแรง ไม่เสียงบประมาณมากนัก สิ่งสำคัญคือ “ ความสำเร็จได้เริ่มต้นก้าวอย่างถูกต้องแล้ว”  โดยมีที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญกำกับการดำเนินงานในทุกขั้นตอน

10. ที่ปรึกษามีการทำงานอย่างชัดเจน

ที่ปรึกษาจะทำงานตามขั้นตอนที่ชัดเจนกับทีมบริหารองค์กร  แต่หากมีปัญหาใดที่นอกเหนือความคาดหมายในขอบเขตของงาน ที่ปรึกษาก็จะเป็นโค้ชให้คำปรึกษาในทุกประเด็น และหากสิ้นสุดขอบเขตการจ้างงานที่ปรึกษาไปแล้ว  องค์กรยังต้องการความมั่นใจว่างานจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น  ก็สามารถจ้างงานที่ปรึกษาในกรอบงานใหม่ๆ ต่อเนื่องไปได้ในระยะยาว  จนกว่าทีมบริหารจะพึงพอใจและสามารถสร้างทีมงานที่ชำนาญดำเนินงานได้เต็มที่

 

11. เลือกที่ปรึกษาเป็นสิ่งสำคัญ เพื่องานที่มีประสิทธิภาพ

หลักการเลือกที่ปรึกษาที่สำคัญ คือ การดูผลงานทีมที่ปรึกษารายบุคคล  ว่ามีประสบการณ์มาอย่างไร และมีจำนวนที่ปรึกษาเพียงพอต่อการดำเนินงานให้สำเร็จตามเป้าหมายตามระยะเวลาหรือไม่ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มการสะสมความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน ดังนี้

 1. ที่ปรึกษา สายวิชาการ อาจารย์สอนมหาวิทยาลัย  นักบรรยาย  นักวิจัย : ที่ปรึกษากลุ่มนี้จะมีข้อมูลทางทฤษฏีมาก  มีเคสกรณีศึกษา  งานวิจัย  ข้อมูลเชิงกระบวนการ  ขั้นตอน  ระบบระเบียบ   มีความสามารถในการอธิบายและพบเห็นประสบการณ์ที่หลากหลายจากกรณีศึกษาและข้อมูลวิจัยจากในและต่างประเทศ

 2. ที่ปรึกษา สายนักบริหารองค์กร  นักปฏิบัติการ : ที่ปรึกษากลุ่มนี้จะเป็นผู้มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานจริงในองค์กร  มีทักษะทั้งการให้นโยบายและการติดตามควบคุม   รู้ข้อจำกัดในการทำงานจริง   ลงรายละเอียดในเนื้องานได้ดี   มีความเชี่ยวชาญลึกลงไปเฉพาะทางชัดเจน

3. ที่ปรึกษา สายผู้ประกอบกิจการ  :  ที่ปรึกษากลุ่มนี้ จะมีประสบการณ์ตรงในการเป็นเจ้าของกิจการในลักษณะที่ใกล้เคียงกับงานที่ปรึกษา  เข้ามีความลึกซึ้งในการทำงานจริง  เข้าใจในทุกมุมของงาน  พลิกแพลงลดขั้นตอนได้ดี  ทำให้งานกระชับสั้นเร็ว  ได้ผลไว   มองตัวเลขเป้าหมายในงานเป็นสำคัญ  และเข้าในธรรมชาติของผู้ประกอบการได้มากที่สุด

จะเห็นว่า การสร้างธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส์และประสบความสำเร็จได้นั้น การจ้างที่ปรึกษาที่มีความรู้ด้านแฟรนไชส์มาช่วยเหลือจึงมีความสำคัญอย่างมาก  ที่จะเข้ามาช่วยทั้งการวางกลยุทธ์ วางแผนธุรกิจ บริหารจัดการโครงสร้างองค์กร ไปจนถึงระบบปฏิบัติงาน พร้อมให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อปูพื้นฐานสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ของคุณให้มั่นคง เติบโต เพื่อสร้างผลกำไรอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

 

บทความโดย

อาจารย์ จิรภัทร สำเภาจันทร์
– กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท็อป บิสสิเนส คอนซัลแทนท์ แอนด์ แมนเนจเมนท์จำกัด
– ผู้บุกเบิกแฟรนไชส์ร้านสารพัดบริการรายแรกของไทย
– ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้าน กลยุทธ์ธุรกิจแฟรนไชส์ ค้าปลีก

TOP BUSINESS
Credit : สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ / https://www.flathailand.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

สอบถามข้อมูล