4 เคล็ดลับเลือกแฟรนไชส์อย่างไร? ไม่เจ็บตัว ไม่ร้องยี้!
ในช่วงส่งท้ายปีก็จะเป็นช่วงแจกโบนัสที่งดงามของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานองค์กรขนาดใหญ่ พนักงานที่รับอานิสงค์จากบริษัทที่ทำกำไรได้ดี (ซึ่งมักเป็นองค์กรใหญ่หรือองค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับงานภาครัฐ) ถ้าเป็นพนักงานในองค์กรที่ถูกดิสรัปชั่น (Disruption) เช่น สื่อทีวี และนิตยสาร ฯลฯ หรือบ้างก็อาจประสบพบข่าวดีปนร้าย คือได้เงินก้อนพร้อมกับการลดพนักงาน
ในภาวะเช่นนี้ พวกเขาเหล่านั้นดังที่กล่าวมา ก็จะมองหาการขยายผลเงินที่ตนได้รับมา เพื่อให้เกิดการงอกเงยขึ้นไป ในรูปแบบการลงทุนต่างๆ ทั้งแบบ Passive Income (พาสซีฟ อินคัม) หรือรายได้ที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องทำงาน และแบบ Active Income (แอคทีฟ อินคัม) หรือรายได้ที่เกิดขึ้นโดยลงมือทำงาน
ในโลกตลาดทุนและตลาดการเงิน ก็จะมุ่งไปสู่การนำเงินลงทุนไปซื้อสินทรัพย์ชนิดต่างๆ เช่นหุ้น พันธบัตร ทองคำ อสังหาฯ แต่ถ้าเป็นโลกที่ต้องทำงานให้เติบโตสูงเชิงรายได้และอาชีพ การนำเงินเป็นลงทุนในธุรกิจที่ต้องดูแลเองก็เป็นทางเลือกที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีนี้
ช่วงต้นๆ ปี จึงจะมีหลายท่านเล็งหาธุรกิจแฟรนไชส์ที่ถูกใจ เพื่อนำเงินที่ได้มา ต่อยอดเป็นอาชีพ ทั้งแทนอาชีพเดิมจากการเปลี่ยนงาน หรือ เพิ่มอาชีพใหม่ ต่อยอดรายได้จากเงินประจำ
จากสถิติแล้ว ในช่วงที่องค์กรต่างๆ มีการลดพนักงาน ด้วยสภาพเศรษฐกิจหรือด้วยปัจจัยการตกต่ำอุตสาหกรรมหลายๆ ประเภทพร้อมกัน จะพบว่า อัตราการเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์จะสูงขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ จากการเปลี่ยนอาชีพโดยแรงกดดัน
ในช่วงที่เม็ดเงินในมือของคนวัยทำงานมีมาก แต่ตลาดหุ้น ตลาดการลงทุนอยู่ในช่วงเอาแน่เอานอนไม่ได้ ผลตอบแทนรวมไม่ดี ความผันผวนสูง ก็จะเป็นช่วงสำคัญที่ผู้คนไม่นำเงินไปเก็บไว้ในตลาดเงินตลาดทุน แต่หันนำเงินออกมาลงทุนด้วยตนเอง
จึงจะฝากเคล็ดไม่ลับในการซื้อหาแฟรนไชส์แบบง่ายๆ ให้ท่านที่เล็งธุรกิจใหม่ รับปีใหม่ ไว้พิจารณานะครับ
1. ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ดี จะมีลูกค้าใช้บริการเยอะ : กิจการจะน่าสนใจหรือไม่ ดูที่กำไร ยอดขายหน้าร้าน ความสนใจลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ ถ้าเป็นกิจการที่คนยี้เบือนหน้าหนี สินค้าไม่ดี ราคาไม่เหมาะสม ก็คงต้องคิดดีๆ นะครับ
2. แฟรนไชส์ที่ดี แฟรนไชส์ซีต้องชื่นชม : ก่อนซื้อแฟรนไชส์ แวะสืบถามหาคนซื้อแฟรนไชส์ก่อนเราสักหน่อยนะครับว่าแฟรนไชส์ซอร์นั้นดูแลดีแค่ไหน ตรงกับความคาดหวังท่านหรือไม่ มีการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ อย่างไร เอาเปรียบกันมากแค่ไหน แต่ขอบอกว่าอย่าคาดหวังว่า จะได้รับคำชมเท่านั้นถึงจะน่าสนใจนะครับ เพราะทุกกิจการย่อมมีจุดอ่อน แค่ว่าอยู่ในระดับไหนเท่านั้น “โลกไม่มีสิ่งใดสมบูรณ์แบบ”
3. ทำเลท่านต้องดูให้ดีๆ : สมัยก่อนนั้น ทำเลคือหัวใจของร้านค้าปลีก แต่ยุคนี้แม้จะมีการสั่งซื้อออนไลน์มาช่วย ก็มิได้หมายความว่า ทำเลจะไม่สำคัญนะครับ เพราะถึงอย่างไร ก็ต้องเลือกทำเลให้ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ ในค่าเช่าที่เหมาะสม เหมาะกับประเภทกิจการ และแฟรนไชส์ซอร์ ก็ต้องมาช่วยวิเคราะห์ทำเลอีกทางหนึ่ง
4. มองงบลงทุนให้พอดีตัว : บางครั้งงบลงทุนที่ท่านมีไม่มากนัก แต่ต้องการซื้อแฟรนไชส์ที่มีงบประมาณสูง ถึงแม้จะมีธนาคารมาช่วยสนับสนุนการกู้ แต่ก็ต้องพึงพิจารณาว่ากำลังของผู้ลงทุนไหวหรือไม่ โดยเฉพาะประเมินว่า หากกิจการล้มเหลว จะมีเงินแก้ไขสถานการณ์ในชีวิตหรือไม่ ซึ่งไม่แนะนำให้ไปลงทุนในแฟรนไชส์ที่งบประมาณน้อยที่สุดของกลุ่มแฟรนไชส์ธุรกิจนั้นๆ เพราะมักจะเป็นแฟรนไชส์ที่ยังพัฒนาสู้คู่แข่งยังไม่ได้ดีนัก ควรเปลี่ยนไปพิจารณากลุ่มธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่ในงบประมาณลงทุนที่ลงทุนได้โดยไม่กระทบสภาวะการเงินจะดีกว่า
โดยสำหรับท่านใดที่กำลังเล็งๆ ธุรกิจแฟรนไชส์เอาไว้ ทั้งที่เพื่อตั้งใจจะเป็นธุรกิจหรืออาชีพหลักหรือเพื่อเป็นการลงทุนต่อยอดเงินให้ออกผลิดอกออกผลกำไรให้งอกเงย ก็ขอให้ท่านนำ 4 ข้อด้านบน นำไปใช้เลือกพิจารณาและวิเคราะห์ก่อนการตัดสินใจ ขอให้ทุกท่านโชคดี และสวัสดีปีใหม่ 2563 ครับ
บทความโดย
อาจารย์ จิรภัทร สำเภาจันทร์
– กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท็อป บิสสิเนส คอนซัลแทนท์ แอนด์ แมนเนจเมนท์จำกัด
– ผู้บุกเบิกแฟรนไชส์ร้านสารพัดบริการรายแรกของไทย
– ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้าน กลยุทธ์ธุรกิจแฟรนไชส์ ค้าปลีก
TOP BUSINESS
Credit : สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ / https://www.flathailand.com