4 เหตุผล ทำแฟรนไชส์พัง! ไม่ปังเพราะอะไร?
หลายคนมีคำถามและสงสัยกันว่า หลายธุรกิจแฟรนไชส์ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะอะไร ทั้งที่แบรนด์ดูดี สินค้าน่าสนใจ มีลูกค้าเยอะ แต่กลับไปได้ไม่ไกล ไปได้ไม่ถึงที่ฝันไว้ โดยวันนี้ FLA จะนำมาเล่าสู่กันฟังว่าเกิดจากอะไรและทำไมถึงเป็นเช่นนี้
- วางตำแหน่งทางการตลาดผิด ชีวิตเปลี่ยน
บางธุรกิจเริ่มจากจับตลาดติดกระแส ทำให้มีลูกค้าเยอะ ผู้คนสนใจ จึงรีบงขายแฟรนไชส์โดยยังไม่พร้อม ไม่มีการวางแผนที่ดีพอ หลายธุรกิจหากพัฒนาต่อยอดอีกหน่อยก็จะไปได้ไกลและสร้างกำไรให้สาขาแฟรนไชส์ได้ในระยะยาว
ยกตัวอย่าง เช่น เรามีร้านหมูปิ้งรสเด็ด จะเปิดขายแฟรนไชส์หมูปิ้งไม้ละ 10 บาท ก็ย่อมทำได้ แต่ต้องใช้กำลังคนมากๆ ระดับโรงงาน และทำกำไรได้ยาก แต่ถ้าวางกลยุทธ์ตำแหน่งทางการตลาดใหม่ เปลี่ยนจากหมูปิ้ง เป็นสเต๊กหมู ปริมาณต่อชิ้นราว 3-4 ไม้ของหมูปิ้ง ใส่สลัดผัก มันฝรั่งทอด ลงไปหน่อย อาจขายได้หลักร้อย ทำหน้าร้านสวยๆ เพิ่มเมนูใหม่ๆ เอาใจวัยรุ่น เห็นได้ชัดว่า เหนื่อยน้อยกว่า ได้กำไรมากกว่า ต่อยอดขยายตลาดได้อีก ถึงเป็นแฟรนไชส์ก็สามารถใส่ระบบงานต่างๆ เข้าไปเพื่อให้มีประสิทธิภาพได้ ลดขั้นตอนจุกจิก ความยั่งยืนก็จะดีกว่า และลอกเลียนแบบได้ยากเพราะมีระบบการจัดการที่คงที่แล้ว มีเมนูที่คนติดใจแล้ว จะเห็นว่า หมูปิ้งเหมือนกัน วางกลยุทธต่างกัน เราก็เห็นเส้นชัยได้ใกล้กว่า ตำแหน่งการตลาดจึงสำคัญ และต้องวางมันอย่างรอบคอบ
- ขายแฟรนไชส์ไม่เลือกหน้า
หลายธุรกิจคิดว่าการ ขายแฟรนไชส์ได้จำนวนมาก นั้นคือประสบผลสำเร็จตลอดจนได้เงินที่ได้รับเป็นจำนวนไม่น้อย จึงขายแฟรนไชส์แบบไม่ได้คัดกรองให้ดี ซึ่งจริงๆ การขายแฟรนไชส์ ไม่ได้ดูแค่ทำเล แต่ควรจะเลือกใครก็ต้องดูประวัติ อาชีพ การเงิน และวิถีชีวิต ให้ดีด้วย เพราะบ่อยครั้งที่ซื้อไปแล้วไม่ดูแลตามมาตรฐาน แหกกฎ ปัญหาตามมาอีกเพียบ ลูกค้าหาย แบรนด์เสีย ปิดตัว แนะนำเหมือนเดิมคือควรรอบคอบไว้ก่อนดีที่สุด เพราะแฟรนไชส์ก็คือ ทั้งหมดของแบรนด์ มีจุดไหนเสีย ก็จะส่งผลกันหมด
- ไม่พัฒนาแฟรนไชส์อย่างต่อเนื่อง
แฟรนไชส์บางกิจการมักจะมุ่งแต่ขายสินค้า ขายทุกอย่างให้ได้มากที่สุด จนลืมว่า แฟรนไชส์ยังต้องพัฒนา ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ปรับเปลี่ยนตามพฤติกรรมผู้บริโภคและการเปลี่ยนแปลงตามเทรนด์ธุรกิจที่หมุนเร็วขึ้นทุกวัน หากขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กิจการก็จะค่อยๆ พังในที่สุด
- ไม่รักษามาตรฐานสาขาให้ดี
หัวใจสำคัญของระบบแฟรนไชส์ คือ การรักษามาตรฐานของสาขาให้ดีและอยู่ในระดับเท่ากัน หากมีเพียงสาขาใดสาขาหนึ่ง สวยดูดี บริการดี รสชาติคงที่ หรือที่น่าเป็นห่วงมากเลย คือ ดูดีแค่วันเปิดร้านเท่านั้น หลังจากนั้นหลุดมาตรฐาน ยิ่งถ้าลูกค้าเกิดความไม่พอใจกับสาขาอาจเกิดการประจานในโซเชียลได้อีก ส่วนใหญ่ปัญหาที่เกิดกับแฟรนไชส์ขนาดเล็ก จะมีหลัก ๆ อยู่สองอย่าง คือ งบไม่พอที่จะลงไปดูแลสาขาที่เกิดปัญหาได้ กับไม่รอบคอบในการทำสัญญาทำให้มีช่องว่างบังคับใช้กับสาขานั้นๆ ไม่ได้ผล
อย่าลืมว่า การทำธุรกิจให้อยู่ได้ด้วยตัวเองแบบระยะยาวว่ายากแล้ว แต่การทำแฟรนไชส์ให้ยั่งยืนนั้นยากไม่แพ้กัน ทุกกระบวนการควรรอบคอบ ศึกษา และใส่ใจเพื่อให้แฟรนไชส์ประสบความสำเร็จ โดยสมัยนี้มีหน่วยงานรับจ้างตรวจมาตรฐานให้กิจการ และให้คำแนะนำได้ แต่ถ้าปัญหาเกิดจากการวางกลยุทธ์ที่ไม่คิดให้ดีก่อนลงมือทำล่ะก็ คงจะเหนื่อยที่จะต้องตามแก้ไขปัญหาที่จะตามมาอีกมากมาย
บทความโดย
อาจารย์ จิรภัทร สำเภาจันทร์
– กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท็อป บิสสิเนส คอนซัลแทนท์ แอนด์ แมนเนจเมนท์จำกัด
– ผู้บุกเบิกแฟรนไชส์ร้านสารพัดบริการรายแรกของไทย
– ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้าน กลยุทธ์ธุรกิจแฟรนไชส์ ค้าปลีก
TOP BUSINESS
Credit : สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ / https://www.flathailand.com