7 สาเหตุขายดี แต่ไม่มีกำไร
ธุรกิจ SMEs จำนวนไม่น้อยที่ต้องได้รับความเสียหาย ทำยอดขายได้ดี แต่สรุปตอนจบกลับได้กำไรน้อยจนน่าตกใจ หรืออาจรันทดหนักถึงขนาดขาดทุน ซ้ำร้ายกว่านั้นก็พบว่าหลายๆ กิจการก็ถึงกับต้องปิดตัวลงไป บ้างก็ได้หนี้สินติดตัวไปด้วย เพราะเหตุของความไว้วางใจว่ายอดขายดี แต่ไม่ได้ดูว่าเหตุใด กำไรหด จนขาดทุน หนี้ท่วม แล้วอะไร คือ สาเหตุนั้น!?
- ไม่ใส่ใจต้นทุนมากพอ
ทุกธุรกิจมีต้นทุน แต่เรามักจะลืมใส่ใจกับต้นทุนเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ของเหลือทิ้งหลังร้านปิด ที่สั่งมาเผื่อขาดเป็นประจำ และเป็นต้นทุนไม่น้อยที่เสียไป เมื่อเทียบกับยอดขายจึงได้กำไรน้อย เช่น ในธุรกิจอาหาร ควรควบคุมต้นทุนอาหาร ที่ประมาณ 35% และยังไม่นับการปรับเพิ่มต้นทุนแล้วไม่แก้ไขในการขยับราคาขายหรือปรับเปลี่ยนแหล่งวัตถุดิบให้เหมาะสม ซึ่งเจ้าของธุรกิจทั้งหลายในตลาดมักจะเจอปัญหานี้มากที่สุด จึงเป็นที่มาของปัญหาหนี้นอกระบบได้
- การใช้เงินในธุรกิจไปกับเรื่องส่วนตัว
เนื่องจากธุรกิจทั้งหลายมักไม่ชอบตั้งเงินเดือนของเจ้าของกับหุ้นส่วนให้ชัดเจนและเหมาะสม และมักจะเกิดเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องนำเงินที่ได้จากธุรกิจไปใช้ในเรื่องส่วนตัว เช่น จ่ายค่าผ่อนบ้าน ค่าน้ำมันรถ ฯลฯ พอเงินหมุนในธุรกิจไม่พอก็นำทรัพย์ออกมาใช้หมุนเวียนคืนไป ๆ มา ๆ แบบนี้ก็จะทำให้กิจการหลักเสียหายได้ง่าย
- การปล่อยเครดิตสินค้า
กิจการที่มีรายได้จากดอกเบี้ยรับ เช่น ขายรถจักรยานยนต์แบบให้ผ่อน หรือกิจการที่มีเทอมการรับชำระเงินค่าสินค้าจากโมเดิร์นเทรดยาว ๆ หลายเดือน จะพบปัญหาสภาพคล่องจากการขายสินค้าดี ยอดขายสูง แต่จะไปเจอกับปัญหาว่าเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอ ทำให้ต้องกู้เงิน ติดหนี้ระยะยาว ซึ่งต้องวางแผนรับมือให้ทันก่อนจะเกิดปัญหาแบบนี้
- การผูกราคาขายด้วยสัญญาล่วงหน้า แต่ควบคุมต้นทุนวัตถุดิบไม่ได้
มักจะเกิดกับธุรกิจที่มียอดขายผูกสัญญากับลูกค้าไว้เรียบร้อยแล้ว จึงไม่สนใจการหายอดขายใด ๆ อาจเป็นเพราะเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการสูง หรือมีคู่แข่งน้อย แต่ก็มักจะพบปัญหาในการหาวัตถุดิบที่มีความเปลี่ยนแปลงของราคาได้ยาก เพราะต้นทุนมากขึ้น แต่ผูกขาดราคากับลูกค้าไว้แล้ว
ฉะนั้นต้องแก้ไขด้วยการขยายพื้นที่รับซื้อวัตถุดิบ หาวัตถุดิบทดแทน และต้องเจรจากับคู่แข่งเพื่อซื้อวัตถุดิบ หาทางร่วมมือกันทางการตลาด
- บริหารกำไรไม่เป็น
เมื่อได้ยอดขายและมีกำไร นำมาใช้ นำมาปันผลแบ่งหุ้นส่วนแล้ว และไม่กันเงินสำหรับการลงทุนในกิจการ ไม่มีเงินทุนสำรองไว้เพื่อใช้ยามฉุกเฉิน เวลายอดขายได้ไม่ตามเป้าเดิม ทำให้หมุนเงินไม่ทัน กลายเป็นต้องกู้ยืมหรือใช้เงินส่วนตัวมาหมุนในกิจการ
- การทุจริตคอรัปชั่น
หุ้นส่วน และพนักงาน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจทั้งหลายหายนะมาหลายรายแล้ว กล่าวคือ การที่ระบบมีช่องโหว่ ส่งผลให้คนทำงานมีหนทางในการทุจริตเงิน วัตถุดิบ สินค้า จนธุรกิจเสียหาย โดยไม่รู้ตัว ทำให้ต้นทุนกิจการสูงขึ้น กำไรน้อยหรือมาก ก็ได้ไม่คุ้มเสีย
- ขาดที่ปรึกษาด้านการเงินที่ดี
ในปัญหาทั้ง 6 ข้อที่กล่าวมานั้น จะเกิดขึ้นได้น้อยมาก ถ้าผู้ประกอบการมีที่ปรึกษาด้านการเงินที่ช่วยวางแผนป้องกัน คอยดูตัวเลขและเตือนให้ผู้ประกอบการเห็นสถานะด้านต่าง ๆ ของธุรกิจ และต้องดูอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อจะได้วางแผนและแก้ปัญหาได้ตรงจุดก่อนจะเสียหายหนัก
ดังนั้นเมื่อรู้วิธีหายอดขาย และมีกำไรแล้ว ก็ต้องรู้วิธีการรักษากำไร และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจด้วยเช่นกัน
บทความโดย
อาจารย์ จิรภัทร สำเภาจันทร์
– กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท็อป บิสสิเนส คอนซัลแทนท์ แอนด์ แมนเนจเมนท์จำกัด
– ผู้บุกเบิกแฟรนไชส์ร้านสารพัดบริการรายแรกของไทย
– ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้าน กลยุทธ์ธุรกิจแฟรนไชส์ ค้าปลีก
TOP BUSINESS
Credit : สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ / https://www.flathailand.com