ส่องการเติบโต “แฟรนไชส์เมียนมา” & ก้าวต่อไปของ “แฟรนไชส์ไทย”
ธุรกิจแฟรนไชส์สามารถทำให้คนธรรมดาเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว และยังช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และการขยายตัวส่งเสริมเศรษฐกิจให้กับประเทศอีกด้วย จึงไม่แปลกที่ในแต่ละประเทศทั่วโลก เริ่มสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจระบบแฟรนไชส์
โดยเฉพาะในประเทศแถบอาเซียนอย่าง “เมียนมา” ซึ่งถือว่า เป็นประเทศที่ยังใหม่มาก จากความพยายามของนักธุรกิจเมียนมาอยู่ในช่วงขาขึ้นด้วยแรงการขับเคลื่อนประเทศที่เปิดรับมากกว่าอดีต ทำให้คนรุ่นใหม่สร้างกิจการใหม่ๆ ขึ้นมาได้ แต่ก็ยังขยายได้ไม่มากด้วยกลไกทางเศรษฐกิจของประเทศเมียนมาเองที่ยังไม่พร้อมมากนัก
จากปัจจัยการขยายธุรกิจในประเทศเมียนมา เป็นไปได้ยากลำบากสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะที่ดินในประเทศนี้มีราคาแพง ทำให้คนธรรมดาฐานะปานกลางไม่สามารถจัดหาเงินทุนจำนวนมากมาขยายธุรกิจหลายๆ แห่งออกไปได้
ดังนั้น การพึ่งพาระบบแฟรนไชส์ ในการขับเคลื่อนธุรกิจ จึงเป็นทางออกที่นักธุรกิจรุ่นใหม่ของเมียนมา มองหากุญแจทางธุรกิจมาไขปัญหาข้อจำกัดดังกล่าว และใช้ระบบแฟรนไชส์เป็นเครื่องมือขยายธุรกิจออกไปในเมืองต่างๆ ของเมียนมา
นอกจากปัญหาเรื่องทำเล อันมีราคาสูงแล้ว ความรู้ความเข้าใจของนักธุรกิจของเมียนมาเองก็ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องให้ความรู้ เพราะยังไม่เข้าใจในตัวระบบแฟรนไชส์ว่า ทำไมต้องจ่ายค่าแฟรนไชส์รายเดือน ? ทำไมต้องทำตามระบบของ “แฟรนไชส์ซอร์” อย่างเคร่งครัด? และทำไมจึงไม่สามารถคิดและออกแบบระบบงานให้เป็นไปตามต้องการของตนเอง ?
จึงทำให้ระบบแฟรนไชส์ในเมียนมา ในช่วงแรกๆ การดำเนินงานต่างๆ ยังไม่ราบรื่น แต่ก็นับเป็นข้อดีที่ทำให้เกิดการเรียนรู้จากความผิดพลาด ความไม่เข้าใจ ความล้มเหลว ในการริเริ่มแฟรนไชส์ใหม่ๆ ในเมียนมา
ย้อนกลับมาดูประเทศไทย ซึ่งระบบแฟรนไชส์ได้ริเริ่มเข้ามาแล้วกว่า 30 ปี พบว่าระยะแรกๆ ของแฟรนไชส์ไทยเริ่มต้นจากแบรนด์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกา เป็นต้นตำรับแฟรนไชส์ เข้ามาให้สิทธิ์แฟรนไชส์กับนักธุรกิจ นักลงทุนไทย เปิดให้บริการคนไทย จนเป็นที่ตื่นเต้นในยุคอดีต เช่น แมคโดนัล ที่สาขาย่านราชประสงค์ ฯลฯ จนมีสารพัดแบรนด์เข้ามาในเมืองไทย
ต่อมานักลงทุนไทยก็เรียนรู้ระบบจากต่างประเทศ มีการพัฒนารูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ขึ้นมา ในยุคแรกๆ แฟรนไชส์ไทยก็คงนึกถึง “แบล็คแคนยอน” ร้านอาหาร ร้านกาแฟที่ขยายด้วยรูปแบบแฟรนไชส์ในยุคนั้น ด้วยความที่คนไทยประยุกต์เก่ง ก็นำวิธีคิดแฟรนไชส์ มาทำให้มีขนาดธุรกิจเล็กๆ ขยายกันในรูปแบบรถเข็น คีออสก์ รถพ่วงข้าง และตัดรายละเอียดกระบวนการแฟรนไชส์ที่คิดว่า ลูกค้านักลงทุนไม่ชอบออกไป แล้วหันมาขายธุรกิจแทน ซึ่งรถเข็นแนวนี้ ก็ถูกเรียกว่า “แฟรนไชส์รถเข็น”
อย่างไรก็ตาม แม้จะขายง่าย ขายดี แต่ด้วยการตัดรายละเอียดอันเป็นหลักการสำคัญของธุรกิจแฟรนไชส์ออกไป จึงก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ และความไม่ยั่งยืน อาทิ ปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพสาขา การจัดการวัตถุดิบ ความเข้าใจนักลงทุน ฯลฯ จึงทำให้กิจการแนวนี้เปิดง่าย ปิดง่าย ขัดแย้งง่าย
สิ่งที่พบเห็นเป็นระยะในปรากฏการณ์แฟรนไชส์ไทย คือ การแฝงตัวมาของแชร์ลูกโซ่ที่แอบอ้างว่า เป็นระบบแฟรนไชส์ ให้การลงทุนที่ง่ายแสนง่าย นักลงทุนไม่ต้องออกแรงเปิดร้าน บริหารร้านเอง แถมรับประกันผลตอบแทนด้วยตัวเลขหรูหราน่าเร้าใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่คอยล่อลวงนักลงทุนที่ขาดความรู้และประสบการณ์ จนเกิดความเสียหายอย่างมาก
ต่อมาคนไทยมีความเข้าใจในระบบแฟรนไชส์มากยิ่งขึ้น เกิดนักลงทุนองค์กร ที่มาจากเจ้าของพื้นที่ศูนย์การค้า เช่น บริษัทฯในกลุ่มเซ็นทรัล , นักลงทุนแนวลูกเถ้าแก่ที่ขยายออกจากธุรกิจกงสี เป็นผู้ซื้อแฟรนไชส์รายใหญ่ของไทย , ผู้ลงทุนรายย่อย โดยปัจจุบันคาดว่า ในไทยมีผู้สนใจลงทุนแฟรนไชส์มากถึง 3 แสนคน และมีผู้สนใจรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
“หากต้องการมองว่า ต่อไปแฟรนไชส์ไทยจะเป็นอย่างไร ก็มองประเทศที่มีการพัฒนามาก่อน อย่างประเทศฟิลิปปินส์ ถือเป็นตลาดใหญ่ในอาเซียน ที่กำลังได้รับความสนใจจากบรรดาธุรกิจแฟรนไชส์ ทั้งหลาย ซึ่งจะเป็นแนวทางที่เกิดขึ้นต่อไปในอนาคตของไทยให้เติบโตได้เช่นกัน”
บทความโดย
อาจารย์ จิรภัทร สำเภาจันทร์
– กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท็อป บิสสิเนส คอนซัลแทนท์ แอนด์ แมนเนจเมนท์จำกัด
– ผู้บุกเบิกแฟรนไชส์ร้านสารพัดบริการรายแรกของไทย
– ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้าน กลยุทธ์ธุรกิจแฟรนไชส์ ค้าปลีก
TOP BUSINESS
Credit : สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ / https://www.flathailand.com